แมวเปอร์เซีย เป็นแมวที่ค่อนข้างรักสงบ ชอบอยู่ในความเงียบ และใช้เวลาพักผ่อนอยู่ในพื้นที่ส่วนตัว ไม่ชอบบรรยากาศความวุ่นวายหรือเสียงดังรบกวน จึงเป็นแมวที่ไม่ค่อยส่งเสียงร้อง หรือหากร้องก็จะใช้เสียงที่อ่อนนุ่มและไม่ดังจนเกินไป นอกจากนี้ยังเป็นแมวที่ค่อนข้างอ่อนโยนและจะใกล้ชิดกับคนที่รู้สึกไว้ใจเท่านั้น เหมาะสำหรับการเป็นสัตว์เลี้ยงให้กับผู้สูงวัยหรือผู้ใหญ่และเด็กโต ไม่แนะนำให้เลี้ยงร่วมกับเด็กเล็ก เนื่องจากเสียงร้องของเด็กอาจทำให้แมวเปอร์เซียแสดงอาการหงุดหงิดได้ รวมถึงก่อนการเลี้ยงร่วมกับสุนัขหรือสัตว์อื่น ควรดูให้มั่นใจก่อนว่าสัตว์เลี้ยงตัวอื่นค่อนข้างรักสงบเช่นเดียวกัน

แมวเปอร์เซียแท้ต้องดูอย่างไร
การจะสังเกตลักษณะของแมวพันธุ์เปอร์เซีย จำเป็นต้องดูหลาย ๆ องค์ประกอบรวมกัน ดังนี้

ดูที่ใบหน้า ใบหน้าค่อนข้างกลมและมีแก้ม จมูกสั้นกว่าแมวสายพันธุ์อื่น ๆ ดวงตากลมโต
ดูที่ลักษณะขน สำหรับแมวเปอร์เซียขนยาว ลักษณะขนจะต้องยาวสวย และนุ่มฟู
ดูที่รูปทรงหาง ลักษณะหางของแมวเปอร์เซียมีความเป็นเอกลักษณ์คือ มีหางที่สั้น กลม ขนหางฟูนุ่ม
ดูจากรูปทรงและขนาด น้ำหนักแมวเปอร์เซียเมื่อโตเต็มที่จะอยู่ที่ 5 – 6 กิโลกรัม คอและขาสั้น กระดูกใหญ่ แข็งแรง
ดูจากลักษณะนิสัย ส่วนใหญ่แล้วแมวเปอร์เซียจะไม่ค่อยส่งเสียงร้อง หรือหากร้องก็จะร้องเสียงเบา ๆ นอกจากนี้ก็ยังเป็นแมวที่รักสงบ ค่อนข้างหวงพื้นที่ส่วนตัว และไม่ชอบความวุ่นวาย

โรคที่ต้องระวังในแมวเปอร์เซีย
สำหรับผู้ที่ต้องการเลี้ยงแมวเปอร์เซีย การศึกษาเรื่องโรคที่อาจเกิดขึ้นกับน้องเหมียวเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อจะได้คอยสังเกตอาการและเลือกอาหารที่เหมาะสม ซึ่งโรคในแมวเปอร์เซียที่พบได้บ่อย มีดังนี้

ปัญหาเรื่องการหายใจผิดปกติ  โดยเฉพาะในแมวเปอร์เซียหน้าบี้ เนื่องจากมีลักษณะจมูกและทางเดินอากาศสั้น ทำให้หายใจผิดปกโดยเฉพาะเวลาเหนื่อย หรือทำให้หายใจมีเสียงดัง

โรคเปลือกตาม้วนเข้า (Entropion)  ลักษณะคือหนังตาจะม้วนเข้าไปด้านใน ให้คอยดูว่าน้องแมวมีการเกาตาบ่อย ๆ หรือไม่ สามารถรักษาได้การปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อทำการผ่าตัด

โรคเชอร์รีอาย (Cherry eye)  โรคตาที่มีลักษณะบวมแดงบริเวณด้านในมุมตาคล้ายลูกเชอร์รี ทำให้เกินการระคายเคืองดวงตา สามารถปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยการผ่าตัดได้เช่นกัน

โรคถุงน้ำในไต (Polycystic kidney disease, PKD)  เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมและสามารถแสดงอาการได้ตั้งแต่ยังเป็นลูกแมวเปอร์เซีย ซึ่งแมวที่เป็นโรคดังกล่าวจะมีถุงน้ำเกาะอยู่ที่ไต ส่งผลไตทำงานผิดปกติและสามารถเกิดภาวะไตวายได้ สัญญาณของโรคเช่น เบื่ออาหาร ดื่มน้ำและปัสสาวะบ่อย ง่วง ซึม ดูไม่มีแรง หากมีอาการดังกล่าวควรพาไปพบสัตวแพทย์

โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวในแมว (Feline hypertrophic cardiomyopathy)  เป็นโรคหัวใจที่พบได้บ่อยในแมวและเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ส่งผลให้การทำงานของหัวใจผิดปกติ โดยส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการ แต่สิ่งที่ต้องระวังคือภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ฯลฯ ทำให้เสียชีวิตกะทันหันได้ นอกจากการรับประทานยาป้องกันแล้ว การลดความเครียดในน้องแมว ก็เป็นอีกวิธีในการป้องกันภาวะแทรกซ้อนนี้ได้เช่นกัน

จอประสาทตาเสื่อม (Progressive retinal atrophy)  เป็นอีกหนึ่งโรคในแมวเปอร์เซียที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เป็นโรคที่สังเกตอาการได้ยากเนื่องจากการพัฒนาของโรคจะค่อย ๆ แย่ลง เบื้องต้นแมวจะเริ่มมองไม่เห็นในตอนกลางคืน และจะค่อย ๆ มองไม่เห็นในตอนกลางวันหรือที่แสงน้อย หากพบว่าน้องแมวเริ่มเดินชนสิ่งของ ให้ลองพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจหาโรคอย่างละเอียด

Seborrhea เป็นโรคทางผิวหนังที่เกิดได้กับแมวเปอร์เซีย โดยจะมี 2 แบบ คือ แบบผิวและขนแห้ง ทำให้ผิวหนังเป็นสะเก็ด และแบบผิวมัน ทำให้ผิวหนังและขนมัน ทั้งสองแบบทำให้เกิดอาการคัน สามารถรักษาได้ด้วยยาและแชมพูอาบน้ำสูตรเฉพาะ

วิธีการดูแลแมวเปอร์เซียตั้งแต่เป็นลูกแมวจนถึงโตเต็มวัย

การดูแลลูกแมวเปอร์เซียช่วง อายุ 1-3 เดือน

ลูกแมวเปอร์เซียอายุ 1 เดือนสามารถเริ่มใช้กะบะทรายแมวได้แล้ว สิ่งที่ต้องระวังคือเรื่องความสะอาด หลังจากที่ลูกแมวเข้าห้องน้ำแล้วควรเช็ดทำความสะอาดให้เรียบร้อย และคอยระวังไม่ให้ลูกแมวเผลอกินทรายในกะบะเข้าไป เมื่ออายุครบ 3 เดือน ควรพาลูกแมวเปอร์เซียไปรับวัคซีนเข็มที่ 1 หรือสามารถปรึกษาสัตวแพทย์ก่อนได้

การดูแลแมวเปอร์เซียโตเต็มวัย อายุ 1 ปีขึ้นไป

การดูแลขน  เนื่องจากแมวพันธุ์เปอร์เซียเป็นแมวขนยาว จำเป็นจะต้องหวีขนให้น้องแมวทุกวัน โดยเลือกใช้แปรงซี่ห่าง ๆ และดูแลเป็นพิเศษบริเวณขนหลังใบหู คาง ท้อง และด้านในขาทั้ง 4 ข้างเพื่อไม่ให้ขนผูกกันเป็นปม

การดูแลดวงตา  เนื่องจากแมวเปอร์เซียมีดวงตากลมโตกว่าแมวทั่วไป จึงทำให้มีน้ำตาไหลอยู่บ่อยครั้ง หากไม่เช็ดทำความสะอาดจะทำให้แห้งติดเป็นคราบฝังแน่น นานไปอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ เจ้าของจึงต้องทำความสะอาดเช็ดรอบดวงตาอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งด้วยผลิตภัณฑ์เช็ดรอบดวงตาหรือน้ำอุ่น โดยเฉพาะแมวเปอร์เซียหน้าบี้ที่จะมีร่องน้ำตาลึกกว่าแมวเปอร์เซียหน้าตุ๊กตา จึงควรใส่ใจเป็นพิเศษ

การทำความสะอาดหู  แมวเปอร์เซียเป็แมวที่มีหูขนาดเล็ก จึงอาจเกิดการติดเชื้อโดยไม่ทันสังเกตได้ ควรเช็กอย่างสม่ำเสมอและเช็ดทำความสะอาดหูเมื่อมีคราบสกปรก โดยใช้คอตตอนบัดส์ขนาดเล็กจุ่มน้ำยาเช็ดหูและเช็ดทำความสะอาด หากมีคราบสกปรกมากเกินไปหรือมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ ควรไปพบสัตวแพทย์ เพราะอาจเกิดจากไรในหูหรืออาการติดเชื้ออื่น ๆ ได้การตัดเล็บ  ควรหมั่น

ตัดเล็บน้องแมวเปอร์เซียทุก ๆ 2 – 3 สัปดาห์ โดยเล็บเท้าหน้าจะยาวเร็วกว่าเล็บเท้าหลัง

การดูแลฟัน  เพื่อป้องกันหินปูนและคราบสกปรกต่าง ๆ ผู้ที่เลี้ยงแมวเปอร์เซียควรหมั่นแปรงฟันให้น้องแมวด้วยยาสีฟันแมวสูตรพิเศษ หรือเลือกให้ขนมที่สามารถช่วยขัดฟันได้

การอาบน้ำแมวเปอร์เซีย  ความถี่ในการอาบน้ำให้แมวเปอร์เซียขึ้นอยู่กับแมวแต่ละตัว ปกติจะอยู่ที่ 2 – 4 สัปดาห์ต่อครั้ง หรือให้สังเกตที่ความมันบริเวณเส้นขนของน้องแมว หรือขนแตกจับเป็นก้อน เป็นสัญญาณว่าถึงเวลาต้องอาบน้ำนั่นเอง

แมวเปอร์เซียสีต่าง ๆ พร้อมราคาแมวพันธุ์เปอร์เซีย

ราคาแมวเปอร์เซียหน้าตุ๊กตา อยู่ที่ 3,000 – 8,000 บาท
ราคาแมวเปอร์เซียหน้าบี้ อยู่ที่ 10,000 บาทไปจนถึงหลักแสน
ราคาแมวเปอร์เซียสีขาว สีส้ม หรือสีพื้นฐานอื่น ๆ ราคาเริ่มต้นที่ 3,000 บาท
ราคาแมวเปอร์เซียสีสวาท ราคาเริ่มต้นที่ 3,000 บาท
แมวเปอร์เซียตาสองสี ราคาเริ่มต้นจะสูงกว่าแมวตาสีเดียวเล็กน้อย เริ่มต้นที่ 5,000 บาท
ราคาแมวเปอร์เซียชินชิล่า อยู่ที่ 7,000 บาทขึ้นไป
ราคาแมวหิมาลายัน เริ่มต้นที่ 20,000 บาทขึ้นไป

แมวเปอร์เซียถือเป็นแมวที่มีลักษณะโดดเด่นตั้งแต่ใบหน้าสุดน่ารัก ขนฟูนุ่ม และนิสัยที่ดูเรียบร้อยอ่อนหวาน ทำให้หลายคนอยากเป็นเจ้าของ แต่ก่อนตัดสินใจควรศึกษาเรื่องการดูแล โรค และอาหารที่เหมาะสมสำหรับน้องแมวพันธุ์เปอร์เซียด้วยเช่นกัน

ติดตามเรื่องราวสัตว์เลี้ยงได้ที่  pointreyesschoolhouse.com